ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ |
|||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
มาตรา 14 ในกรณีที่เอกสารทำขึ้นไว้หลายภาษา ไม่ว่าจะเป็นฉบับเดียวกันหรือหลายฉบับก็ตามโดยมีภาษาไทยด้วย ถ้าข้อความในหลายภาษานั้นแตกต่างกัน และมิอาจหยั่งทราบเจตนาของคู่กรณีได้ว่าจะใช้ภาษาใดบังคับให้ถือตามภาษาไทย | |||||||||
คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1254/2546 หนังสือเลิกจ้างของบริษัทจำเลยจัดทำขึ้นเป็นสองภาษาคือภาษาอังกฤษและภาษาไทยในฉบับเดียวกัน แม้จำเลยจะเป็นบริษัทต่างประเทศแต่ก็ประกอบกิจการในประเทศไทย และโจทก์กับลูกจ้างอื่น ๆ ของจำเลยก็เป็นคนไทย ดังนั้น แม้หนังสือดังกล่าวจะไม่มีการระบุไว้ชัดแจ้งว่า หากข้อความที่เป็นภาษาอังกฤษกับข้อความที่เป็นภาษาไทยแตกต่างกันให้ใช้ข้อความภาษาอังกฤษเป็นหลัก กรณีจึงต้องถือว่ามิอาจหยั่งทราบเจตนาของคู่กรณีได้ว่าจะใช้ภาษาใดบังคับ จึงต้องถือตามข้อความที่เป็นภาษาไทยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 14 เมื่อข้อความภาษาไทยระบุถึงเหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ละเลยต่อหน้าที่การงานขาดความรับผิดชอบและประสิทธิภาพในการทำงานของโจทก์ไม่เป็นที่ยอมรับของจำเลย อันมิใช่สาเหตุที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 จำเลยจะยกเหตุตามมาตราดังกล่าวมาอ้างเพื่อไม่จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ในภายหลังหาได้ไม่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17 วรรคสาม จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 918/2544 โจทก์ขายบ้านพร้อมที่ดินให้แก่จำเลย และโอนกรรมสิทธิ์กันเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2534 โดยจำเลยยังค้างค่าบ้านและที่ดินอีก65,000 บาท ซึ่งโจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้นับแต่สิ้นเดือนกันยายน2534 เป็นต้นไป แต่โจทก์มิใช่บุคคลที่เป็นพ่อค้าซึ่งประกอบการค้าโดยซื้อสินค้ามาและขายไปเป็นปกติธุระที่จะต้องฟ้องคดีภายใน กำหนด 2 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1)(เดิม) โจทก์มีสิทธิฟ้องคดีได้ภายใน 10 ปี ตามมาตรา 164(เดิม) ซึ่งเป็น กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ และ ระยะเวลาดังกล่าวยังไม่สิ้นสุดลงในวันที่พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2535 ใช้บังคับทั้งเป็นระยะเวลาที่ยาวกว่าระยะเวลาที่กำหนดขึ้น ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าว คือมาตรา 193/34(1) จึงต้องนำระยะเวลาที่ยาวกว่ามาใช้บังคับตามพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 1แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2535มาตรา 14
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1663 - 1664/2529 ข้อบังคับการทำงานเอกสารล.1จัดทำเป็นภาษาอังกฤษจำเลยเป็นผู้ส่งต่อศาลหากไม่มีคำแปลเป็นภาษาไทยศาลย่อมมีอำนาจสั่งให้จำเลยทำคำแปลได้แต่เมื่อจำเลยได้ทำคำแปลเป็นภาษาไทยมาแล้วต้องถือว่าถูกต้องตามเอกสารนั้นซึ่งศาลจำต้องวินิจฉัยไปตามนั้นจำเลยจะโต้แย้งภายหลังว่าคำแปลดังกล่าวไม่ถูกต้องไม่ได้. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา14นั้นเป็นที่ชัดแจ้งว่าต้องมีเอกสารฉบับใดฉบับหนึ่งได้ทำขึ้นเป็นสองภาษาจึงจะใช้ความในมาตรานี้บังคับได้ข้อบังคับการทำงานของจำเลยได้ทำขึ้นเป็นภาษาอังกฤษเพียงภาษาเดียวส่วนภาคภาษาไทยเป็นเพียงคำแปลเท่านั้นเมื่อจำเลยทำคำแปลภาษาไทยมาแล้วศาลก็ย่อมวินิจฉัยภาษาไทยที่จำเลยแปลมานั้น. เมื่อจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์โจทก์ได้ทำเอกสารให้แก่จำเลยมีข้อความในวรรคแรกว่า'โดยความสิ้นสุดแห่งการรับจ้างทำงานให้กับบริษัทฯข้าพเจ้าได้รับเงินจำนวน.....จากบริษัทฯตามข้อบังคับแผนการเงินบำเหน็จเมื่อเกษียณอายุ......เป็นการชำระโดยเต็มและถึงที่สุดในเงินค่าจ้างเงินบำเหน็จเมื่อเกษียณอายุและเงินจำนวนอื่นซึ่งข้าพเจ้ามีสิทธิได้รับ'ข้อความดังกล่าวระบุประเภทของเงินค่าจ้างและเงินบำเหน็จเท่านั้นส่วนคำว่าเงินจำนวนอื่นนั้นจะให้หมายความรวมถึงค่าชดเชยซึ่งจำเลยมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องจ่ายให้โจทก์ด้วยนั้นหาได้ไม่ส่วนความในวรรคสองมีว่า'และโดยที่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวข้างต้นข้าพเจ้าจึงขอรับรองว่าข้าพเจ้าทายาทฯลฯขอสละสิทธิและปลดปล่อยโดยตลอดไปให้บริษัทฯผู้สืบสิทธิและผู้ที่ได้รับมอบหมายปลอดจากสิทธิเรียกร้องใดๆของข้าพเจ้าอันเกี่ยวกับการรับจ้างทำงานให้บริษัท'ข้อความดังกล่าวหาได้มีการระบุไว้โดยชัดแจ้งว่าโจทก์ได้แสดงเจตนาปลดหนี้ค่าชดเชยไม่ค่าชดเชยเป็นเงินที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างต้องจ่ายให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์สละสิทธิเรียกร้องในค่าชดเชยซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายตามกฎหมายไม่.
|